หากพูดตามความเข้าใจของคนทั่วไปแล้ว ซากรถ คือ รถที่ใช้งานไม่ได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเก่าเกินไป หรือเกิดอุบัติเหตุรถพังยับ แต่ถ้าหากพูดในแง่ของฝั่งประกัน (ซึ่งผู้ใช้งานรถยนต์แต่ละคนจะต้องทำประกันรถยนต์กันอยู่แล้ว) จะเรียกซากรถเหล่านี้ว่า รถเสียหายสิ้นเชิง คือ รถที่มีการเสียหายหนัก หากจะซ่อมก็มีค่าซ่อมเกินกว่า 70% ของทุนประกัน ซึ่งไม่คุ้มกับค่าซ่อม หรือซ่อมมาใช้งานไม่ได้เหมือนปกติ บริษัทประกันจะจ่ายให้เจ้าของ 70% แล้วต้องโอนซากรถให้ตกเป็นของประกันต่อไป
ส่วนใหญ่นำซากรถไปทำอะไร?
ถ้าถามว่า บริษัทประกัน หรือเจ้าของรถเก่าส่วนใหญ่จะนำซากรถเหล่านั้นไปทำอะไรบ้าง ส่วนใหญ่คือ จะนำไปขายต่อให้คนที่สนใจ ซึ่งคนที่สนใจเหล่านั้น บางทีก็เป็นอู่นำรถไปซ่อมต่อ เพราะภายในอู่มีอะไหล่อยู่แล้ว หรือ นำอะไหล่บางส่วนที่ยังใช้ได้ไปปรับกับรถคันอื่น/แยกแบ่งขาย/ประกอบกับซากรถคันอื่นเพื่อทำเป็นรถคันใหม่ หรือ บางครั้งถ้าพูดในมุมสีเทาหน่อยก็อาจจะนำไปสวมทะเบียน (แต่ส่วนน้อยมากที่จะลงทุนถึงขั้นนำไปสวมทะเบียน)
ก่อนนำซากรถไปขายต้องรู้อะไรบ้าง?
สำหรับคนที่อ่านแล้วกำลังรู้สึกสนใจ อยากนำซากรถไปขายบ้าง ก่อนอื่นเลยคือ คุณควรรู้เรื่องเหล่านี้ก่อนนำซากรถไปขาย เพื่อไม่ให้มีการผิดพลาดทีหลัง
1) การขายซากรถของรถที่มีประกันต่างจากรถที่ไม่มีประกัน
การขายซากรถจากทั้งสองแบบต่างกันแน่นอน เพราะรถที่มีประกัน บริษัทประกันจะประเมินสภาพก่อนว่า ค่าซ่อมเกินกว่า 70% ของมูลค่ารถในขณะที่เกิดความเสียหายหรือไม่ หากเกินกว่าก็จ่ายค่าชดเชยคืนทุนประกัน 100% แล้วโอนซากรถให้ประกันไปขายต่อเอง แต่ถ้าในกรณีที่รถไม่มีประกัน เจ้าของจะต้องเป็นผู้ประเมินและนำไปขายเอง
2) ขายซากรถต้องมีเล่มทะเบียน
แม้รถยนต์จะกลายเป็นซากแล้ว แต่เมื่อมีการขายก็ยังคงจำเป็นต้องใช้เล่มทะเบียนอยู่ โดยอาจโอนลอยได้ แต่อย่างไรก็ต้องมีการส่งมอบเล่มทะเบียน ตามกฎหมายงดรับจดทะเบียนซากรถ โดยเริ่มใช้สิ้นปี 2557 นอกจากนี้ยังต้องเช็กอีกว่า ภาษีประจำปีหมดอายุแล้วรึยัง หากยังไม่หมดต้องแจ้งยกเลิกการใช้งานรถยนต์ที่กรมขนส่ง เพื่อป้องกันการนำไปใช้สวมทะเบียน หรือนำรถไปใช้ในทางอื่น ๆ ที่ผิดกฎหมาย
3) เอาเงินประกัน แต่ไม่ขายซาก
ถ้าคุณยังเสียดายรถยนต์คันเดิม แต่อยากได้เงินประกัน ก็สามารถที่จะเรียกเอาเงินประกันได้โดยที่ไม่ต้องโอนรถให้ประกันนำไปขายได้ แต่คุณจะสามารถเรียกเอาเงินประกันได้เพียง 65-70% ของเงินประกัน หากอยากได้เงิน 100% ของเบี้ยประกันแทนค่าเสียหายทั้งหมดจะต้องโอนรถให้แก่ประกัน ทั้งนี้อยู่ที่คุณจะต้องพิจารณาแล้วว่า แบบไหนคุ้มกว่ากัน โดยประเมินจากความเสียหายที่เกิดขึ้น และความคุ้มครองของประกันที่ทำ หากซ่อมให้เหมือนเดิมจะต้องจ่ายเท่าไหร่ หรือนำซากไปขายเองจะได้เท่าไหร่
4) ซากรถติดไฟแนนซ์ขายเองไม่ได้
หากรถยนต์ที่กลายเป็นซากรถยังผ่อนไม่หมด เมื่อไม่มีเงินค่าเสียหายมาเยียวยาได้พอกับการเคลียร์หนี้จากการกู้ซื้อรถยนต์ ซากรถเหล่านั้นยังถือว่า มีไฟแนนซ์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ ถ้านำซากไปขายจะไม่สามารถโอนได้และอาจโดนข้อหายักยอกได้ด้วย ดังนั้น ก่อนจะนำไปขายต้องเช็คให้ดีว่า เงินที่ได้มาพอกับการเคลียร์ปิดหนี้กับไฟแนนซ์หรือไม่ หากขาดเหลือยังไงต้องรีบหามาจ่ายให้แก่ไฟแนนซ์ให้เรียบร้อย
5) ซากรถน้ำท่วมไม่เหมือนซากรถจากอุบัติเหตุ
ในบางพื้นที่ของประเทศไทยมักจะเจอกับปัญหาน้ำท่วมบ่อย ทำให้รถได้รับความเสียหายหนัก เช่น เครื่องพัง คราบน้ำสกปรก เป็นรอยรอบคัน ฯลฯ แต่เมื่อมีการประเมินความเสียหายของซากรถที่เกิดจากน้ำท่วมแล้ว มักจะถูกประเมินออกมาไม่เหมือนกัน เพราะซากรถจากน้ำท่วมมักจะมีการเสียหายน้อยกว่าซากรถจากอุบัติเหตุ มีโอกาสที่จะนำไปซ่อมให้กลับมาใช้งานปกติได้มากกว่า แถมอาจใช้เงินซ่อมน้อยกว่าด้วย ดังนั้น อย่าพึ่งรีบร้อนใจว่า รถยนต์ถูกน้ำท่วมจนรถพังแล้วจะถูกตีเป็นซากรถ เพราะประกันอาจจะประเมินความเสียหายให้ไม่ถึงกับต้องเป็นซาก
สำหรับใครที่เคยมองว่า รถพังยับหรือเก่าจนใช้งานไม่ได้ เป็นสิ่งที่ไม่มีค่า ขอให้ทำความเข้าใจใหม่ว่า ซากรถไม่ใช่ขยะ อย่าพึ่งคิดจะนำไปทิ้งให้เสียเปล่าโดยเด็ดขาด เพราะสิ่งนั้นอาจจะถูกตีมูลค่าได้สูงถึงหลักแสนเลยทีเดียว แม้ว่าคุณอาจจะไม่มีบริษัทประกันภัยคอยจัดการให้ ปัจจุบันนี้คุณก็สามารถจัดการเองได้ง่าย ๆ เพราะมีบริการรับเป็นนายหน้าซื้อ-ขายซากรถ โดยที่ไม่ต้องไปหาคนที่สนใจซื้อและประเมินราคาที่เหมาะสมเอง นอกจากนี้ หากมีข้อสงสัยอื่น ๆ เพิ่มเติม อาจสอบถามผ่านทางกรมขนส่งโดยตรง หรือปรึกษาเราผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่คุณสะดวก เพื่อความมั่นใจไม่ให้มีข้อผิดพลาดในภายหลัง